สีอัญมณี (Color)

สีของอัญมณี (Color)

การพิจารณาสีของอัญมณี ควรใช้ไฟสีขาวของหลอดฟลูออเรสเซนท์ (Fluorescent Lamp) ที่มีแสงใกล้เคียงกับแสงแดด (Day Light) การพิจารณาดูสีของอัณมณีควรดูทางด้านหน้าของอัญมณี (Face-up) พื้นที่ด้านหลัง (Back Ground) ควรเป็นสีขาว ให้ถืออัญมณีห่างประมาณ 6 นิ้ว จากไฟขาว (Fluorescent Light) และดูอีกครั้งด้วยไฟเหลือง เพราะแสงจากหลอดไฟสีเหลือง (Incandescent Light) จะช่วยตรวจดูว่าอัญมณีนั้นเปลี่ยนสีหรือไม่ ในกรณีที่เป็น พลอยอเล็กซานไดรท์ (Alexandrite)
 

หลักการสังเกตดูสี

สี (Hue) สีหลักมีอยู่ 6 สี คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว ม่วง น้ำเงิน การกำหนดสีของอัญมณี เราจะเรียกจากสีของอัญมณีที่เห็น แต่ในกรณีที่อัญมณีนั้นมีความก้ำกึ่งของสีระหว่างกัน เช่น มีทั้งสีแดงและสีม่วงเล็กน้อย ก็จะเรียกว่าสีแดงอมม่วง ถ้าม่วงมากกว่าก็เรียกว่าสีม่วงอมแดง แต่หากสังเกตแล้วว่ามีจำนวนสีแดงกับสีม่วงเท่่ากัน ให้เรียกว่าแดงม่วง เป็นต้น
โทนสี (Tone) หมายถึง ความมืดหรือความสว่างของสี เช่น สีเขียวสว่างหรือสีเขียวมืด เป็นต้น
 
ความเข้มหรือความจัดของสี (Saturation) หมายถึง ปริมาฯณความเข้มข้นของสีเช่น ถ้าสีแดง สี้ส้ม หรือสีเหลือง ที่มีปริมาณความเข้มข้นของสีต่ำ หรือน้อย (Low Saturation) สีของอัญมณีจะอมสีน้ำตาลอ่อน (Brownish) ถ้าสีน้ำเงิน สีเขียว หรือสีม่วงที่มีความเข้มข้นของสีน้อยหรือต่ำ จะทำให้สีของอัญมณีอมสีเทา (Grayish)
 
ในบางกรณีสีของอัญมณีอาจจะกระจายไม่ทั่วและไม่สม่ำเสมอ เป็นหย่อมหรือเป็นแถบสี (Colour Zoning) ที่เกิดจาก 

เจียระไนโดยตั้งใจ (Designed) อัญมณีบางชนิดที่มีสี 2 หรือ 3 สีในตัวซึ่งเป็นคุณสมบัติที่หายาก และมีความสวยงาม การตั้งใจที่จะเจียระไนให้เห็น คุณลักณะเด่นของ 2 หรือ 3 สีไว้ จะต้องออกแบบการเจียระไนรูปอัญมณีให้มีความสวยงามโดยรักษาสีเดิมไว้ หรือควบสีไว้ เช่น พลอยทัวมาลีน 2 สี (Bi-colour Tourmaline) เป็นต้น

 
เจียระไนโดยไม่ได้ตั้งใจ (Unintentional) อัญมณีที่มีบางส่วนของเนื้อที่มีความเข้มของสีแตกกต่างกัน เช่น พลอยซัฟไฟร์ ซึ่งเป็นอัญมณีที่มักมีสีไม่ทั่วหรือเรียบ หรือทับทิมพม่าที่มีสีไม่ทั่วแซมด้วยเหลือบขาว ชาวบ้านเรียกว่า "กินบ่อเซี้ยง" เป็นต้น